ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย

War

บาดแผลสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา —ในอดีตที่ผ่านมา มีสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ที่ได้รับการขนานนามว่า “สงครามที่พี่น้องฆ่ากันเอง” นั่นคือสงครามกลางเมืองในประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2404  เพราะญาติพี่น้อง มิตรสหายที่เป็นคนอเมริกันเหมือนกัน ต่างแบ่งเป็นสองฝ่าย จับอาวุธปืนเข้าประหัตประหารกันเอง

ประธานาธิบดีของทั้งสองฝ่ายก็เกิดในรัฐเคนทักกี้ด้วยกัน  ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นที่อยู่ฝ่ายเหนือก็มีพี่เขยเป็นทหารของฝ่ายใต้ถึง 4 คน และ 1ใน4 ของทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยเวสปอยต์ก็เป็นนายทหารของฝ่ายใต้

สงครามดำเนินไปประมาณสี่ปี คนอเมริกันฆ่ากันตายไปประมาณ 6 แสนคน ไม่นับรวมคนบาดเจ็บที่ต้องตัดแขน ตัดขาอีกหลายแสนคน กว่าฝ่ายใต้จะประกาศยอมแพ้ มากกว่าทหารสหรัฐอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามโลกทั้งสองครั้งและสงคราม เวียดนามรวมกัน

และเป็นสัดส่วนการตายที่สูงมาก เมื่อคิดจากประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนั้นที่มีประมาณ 30 ล้านคน และค่าเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3แสนล้านบาท (มูลค่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน)

ถือเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่มีใครคิดว่า เมื่อตอนเริ่มเกิดสงครามใหม่ ๆ เหตุการณ์จะลุกลามใหญ่โตและสร้างความย่อยยับให้กับประเทศถึงเพียงนี้

บรรยากาศทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่างประชาชนของรัฐฝ่ายเหนือกับรัฐฝ่ายใต้ที่สะสมกันมานานหลายสิบปี

รัฐทางเหนือมีประชากรประมาณ 22 ล้านคน เป็นคน มีรายได้จากการประกอบอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานทาส ขณะที่รัฐทางใต้มีประชากรประมาณ 9 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำเกษตรกรรม จึงต้องใช้แรงงานทาสเพื่อการเพาะปลูก

คนทางใต้มักเป็นผู้ดีเก่าที่อพยพมาจากยุโรป เป็นเจ้าของที่ดินมหาศาล มีความภูมิใจว่าเป็นผู้สร้างชาติมาตั้งแต่แรก  และมักดูถูกพวกคนทางเหนือว่าเป็นพวกนายทุน พวกคนรวยรุ่นใหม่  แต่อดีตเคยเป็นชนชั้นต่ำมาก่อน

แต่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2330 ได้ระบุว่าทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน จึง ได้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า “อเมริกาจะต้องเลิกการค้าทาสให้หมดไปภายในกำหนด 21 ปี” พอครบกำหนด รัฐบาลกลางได้ออกกฎหมายเลิกการค้าทาส แต่ผู้คนในรัฐทางใต้ยังเพิกเฉย

ความขัดแย้งในสังคมจึงได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง คนทางใต้ยิ่งนำเข้าทาสจากทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นจาก 6 แสนคนเป็น 4 ล้านคนภายในเวลาอันรวดเร็ว  คนทางเหนือพากันประณามความไร้มนุษยธรรม ขณะที่คนทางใต้ ซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนาก็ตอบโต้ว่า ไม่มีข้อห้ามในศาสนา และพวกเขาปฏิบัติต่อทาสเหล่านี้ด้วยความเมตตา

นักการเมืองทางใต้ก็พากันต่อต้านกฎหมายเลิกทาส เพราะรู้แน่ว่าจะส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของฝ่ายใต้ บรรดาสส.ในสภาต่างฝ่ายต่างก็โหวตให้กับผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง

สื่อมวลชนก็เริ่มเลือกข้าง หนังสือพิมพ์จากรัฐทางเหนือ ไม่สามารถมาขายรัฐทางใต้ได้ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์จากรัฐทางใต้ก็ไม่สามารถมาขายในรัฐทางเหนือได้อีก ต่อไป
แม้กระทั่งตราชั่งแห่งความยุติธรรมก็เอียง ศาลสูงสหรัฐที่เป็นคนใต้ หรือคนเหนือบางคนก็เริ่มตัดสินคดีความตามผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเองเป็นหลัก

ในที่สุดเมื่อลินคอล์น แห่งพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ฝ่ายใต้ที่ประกอบด้วย 11 รัฐก็ประกาศแยกประเทศ ไม่ขึ้นต่อรัฐบาลกลางอีกต่อไป และบุกโจมตีป้อมทหารแห่งหนึ่งของทหารฝ่ายเหนือ จนลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีลินคอล์นประกาศระดมทหารเข้าสมรภูมิ 2 ล้านกว่าคน ขณะที่ทหารฝ่ายใต้มีกำลังเพียง 1 ล้านคนเศษ

สงครามครั้งนี้มีการผลิตอาวุธที่ใช้สังหารผู้คนทีละมาก ๆ อาทิปืนกล ระเบิด เรือดำน้ำ รวมไปถึงปืนโคลต์ .45 ปืนสั้นที่มีชื่อเสียง มีการรบกันแทบทุกวัน นับรวมได้สองพันกว่าครั้ง และครั้งที่โหดร้ายที่สุดคือสมรภูมิเกเตสเบิร์ก  มีคนตายรวดเดียว 4 หมื่นกว่าคน ประธานาธิบดีลินคอล์นได้เดินฝ่ากระสุนมาเยี่ยมผู้บาดเจ็บ และกล่าวสุนทรพจน์ด้วยความสะเทือนใจที่เห็นพี่น้องชาติเดียวกันต้องมาฆ่ากัน ตาย

“ เราได้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า ทหารทั้งหลายที่เสียชีวิตนี้จะไม่ตายอย่างไร้ค่า เพราะประเทศชาตินี้ภายใต้พระหัตถ์ของพระเจ้าจะได้ก่อกำเนิดเสรีภาพครั้งใหม่ และรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่สูญสลายไปจากโลก”

ไม่นานนัก ทหารฝ่ายเหนือก็เอาชนะทหารฝ่ายใต้ได้อย่างเด็ดขาด เพราะพลังทางเศรษฐกิจของฝ่ายเหนือที่แข็งแรงกว่า ประชากรที่มากกว่า และอาวุธเทคโนโลยีอันทันสมัยกว่า  ทิ้งความย่อยยับของสงครามให้คนในประเทศได้เยียวยากันอีกหลายสิบปี เพราะไม่มีใครคาดคิดตอนเริ่มสงครามว่า จะมีผู้คนล้มตายมากมาย และประเทศพังพินาศถึงเพียงนี้

หลายปีก่อน ผมมีโอกาสไปรัฐเวอร์จิเนีย ไปเยี่ยมสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า นิวมาร์เก็ต เป็นทุ่งหญ้าหลายพันไร่ ในอดีตคือสมรภูมิรบอันดุเดือดแห่งหนึ่ง ยังเห็นร่องรอยของโรงนาที่เป็นโรงพยาบาลสนาม ปืนใหญ่ของทหารทั้งสองฝ่ายที่ยังตั้งประจันหน้ากันอยู่เป็นอนุสรณ์เตือนความ ทรงจำให้คนรุ่นหลัง

สมรภูมิแห่งนี้ นักเรียนโรงเรียนนายร้อยเวอร์จิเนียของฝ่ายใต้ประมาณ 200 คนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ ได้ออกจากห้องเรียนกระทันหัน พร้อมอาวุธปืนมุ่งหน้าสู่นิวมาร์เก็ต เมื่อทราบข่าวว่ากองทหารฝ่ายเหนือได้ยกทัพใกล้เข้ามา

นักเรียนเหล่านั้นไม่เคยได้กลับเข้าห้องเรียนอีกเลย

ร้อยกว่าปีผ่านมา เราเรียนรู้ว่า

 

“ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย”

 

ขอบคุณบทความจากคุณ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

One thought on “ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย”

Comments are closed.

Wordpress Social Share Plugin powered by Ultimatelysocial